20 มิถุนายน 2551

ตอบคำถามงานวิจัย

เรื่อง : การพัฒนาระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศและติดตามผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

1. ทำไมจึงทำวิจัยเรื่องนี้ มีปัญหาอะไร
ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการทำงานด้านต่าง ๆ ในทุก ๆองค์กร โดยเห็นได้จากในแต่ละองค์กรจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยจะมีจำนวนมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กรที่จะขยายใหญ่ขึ้นตามจำนวนพนักงานขององค์กรนั้น ๆ และเนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรคอยดูแลรักษา รวมถึงการแก้ไขซ่อมแซมในกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหาย ซึ่งถ้าองค์กรมีขนาดใหญ่ และบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งการขาดการจัดการระบบการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ มีกระบวนการที่ซับซ้อนไม่เหมาะสม ไม่มีมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูล สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุของความล่าช้าด้วยเช่นกันการเพิ่มบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น แต่ก็จะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคลากรที่มากขึ้นตามไปด้วย การจัดระบบการทำงานและการเก็บข้อมูลลงกระดาษเพื่อทำรายงานต่างๆ ก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ แต่ก็ทำให้เกิดเอกสารที่เป็นกระดาษที่ต้องจัดเก็บจำนวนมาก และการค้นหาข้อมูลก็เป็นไปได้ยาก
ดังนั้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาโดยใช้ภาษาจาวาในการพัฒนาโปรแกรม และเทคโนโลยีของ MySQL ในการจัดการฐานข้อมูล จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาของระบบงานเดิมที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคลากรซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง และยังเป็นการลดการใช้กระดาษในองค์กร อีกทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพในกระบวนการทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรอีกด้วย


2. วัตถุประสงค์ของสารนิพนธ์
2.1 เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศและติดตามผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
2.2 เพื่อประเมินหาประสิทธิภาพของระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศและติดตามผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
3.1 ลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
3.2 เกิดความเชื่อถือในกระบวนการดำเนินงาน
3.3 เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
3.4 สนับสนุนการวางแผนของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน
3.5 ลดปริมาณการใช้กระดาษในองค์กร

4. นิยามศัพท์ คำจำกัดความในการวิจัย
ระบบ หมายถึง ระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศและติดตามผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ผู้ดูแลระบบ หมายถึง พนักงานฝ่ายสารสนเทศที่เชี่ยวชาญด้านดูแลระบบ
ผู้ใช้งานระบบ หมายถึง พนักงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีความจำเป็นในการใช้ข้อมูลจากระบบ

5. ทฤษฎีที่ใช้ (สรุปทฤษฎี)
การพัฒนาระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศและติดตามผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนี้ เป็นการพัฒนาขึ้นโดยมีการนำเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเข้ามาช่วย เช่น ใช้เทคโนโลยี JSP ในการพัฒนาโปรแกรม เทคโนโลยี MySQL ในการจัดการฐานข้อมูล และเทคโนโลยี Apache Tomcat เป็นเว็บเซอร์ฟเวอร์ โดยอาจกล่าวได้ว่าระบบนี้เป็นการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานขององค์กรโดยรวมได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการที่ได้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ มีการนำไปทดสอบใช้งานจริง และมีการประเมินประสิทธิภาพของระบบ พบว่าระบบสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ในระดับที่ดี ความสามารถของระบบโดยสรุปมีดังต่อไปนี้
5.1.1 ความสามารถของระบบในส่วนของพนักงานแก้ปัญหาระบบสารสนเทศ
5.1.1.1 ค้นหาหัวข้อปัญหาและดูรายละเอียดวิธีแก้ปัญหาได้
5.1.1.2 ป้อนข้อมูลปรับปรุงรายละเอียดวิธีแก้ปัญหาในส่วนที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างานได้
5.1.1.3 ดูรายการปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ซึ่งมีสถานะของปัญหาแสดงไว้เพื่อเป็นการง่ายในการจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา
5.1.2 ความสามารถของระบบในส่วนของหัวหน้างาน
5.1.2.1 มอบหมายงานที่เข้ามาใหม่ให้พนักงานแก้ปัญหาระบบสารสนเทศแก้ไขโดยสามารถกำหนดจำนวนวันในการแก้ปัญหาได้
5.1.2.2 สามารถดูรายงานอันดับปัญหาที่มีการค้นหาบ่อยที่สุดได้
5.1.2.3 ดูรายงานสรุปการทำงานของพนักงานแก้ปัญหาระบบสารสนเทศทั้งหมด
5.1.3 ความสามารถของระบบในส่วนของพนักงานทั่วไป
5.1.3.1 สามารถค้นหาวิธีการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศได้จากระบบ
5.1.3.2 สามารถแจ้งปัญหาไปยังฝ่ายแก้ปัญหาโดยป้อนข้อมูลผ่านระบบในกรณีที่เป็นปัญหาใหม่ได้
ผลการทดสอบด้านความต้องการของผู้ใช้งานระบบซึ่งแบ่งผู้ใช้งานระบบออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์กับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ได้ว่าในด้านความสามารถของระบบ ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.32 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดี ส่วนในด้านความสามารถของระบบ ในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.25 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดี ในด้านความถูกต้องของการทำงานในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก ส่วนในด้านความถูกต้องของการทำงานในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.25 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดี ในด้านการใช้งานระบบในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.04 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดีส่วนในด้านการใช้งานระบบในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.34 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดีในด้านความความเร็วในการทำงานของระบบในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.00 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดี ส่วนในด้านความเร็วในการทำงานของระบบในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ4.43 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดี สามารถประเมินได้ว่าการพัฒนาระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศและติดตามผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพอยู่ในระดับดี

6. เครื่องมือที่ใช้
ใช้แผนภาพการไหลของข้อมูลระดับที่ 1 (Data Flow Diagram Level 1) เป็นตัวช่วยในการออกแบบและอธิบายการไหลของข้อมูล

7. ผลการวิจัย
การพัฒนาระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบสารสนเทศและติดตามผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนี้ ใช้ภาษา JSP ในการพัฒนาโปรแกรม ซึ่งภาษา JSP นี้จัดว่าเป็นภาษาที่มีความสามารถในการจัดการกับระบบขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนได้ดี แต่การพัฒนาก็มีความยากกว่าภาษาอื่นๆหลายภาษา แหล่งค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมก็อาจจะน้อยกว่าภาษาอื่น จึงอาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมในการนำมาพัฒนามากนักอย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินประสิทธิภาพของระบบโดยกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งได้ผลคะแนนอยู่ในระดับดีนั้น แสดงให้เห็นว่า การออกแบบ และการพัฒนาระบบในแต่ละส่วนสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ระบบได้ดี

ไม่มีความคิดเห็น: